เธอกับฉันกับฉัน
เธอกับฉันกับฉัน จะมีใครรู้เรื่องฝาแฝดได้ดีไปกว่าฝาแฝดด้วยกัน และจะมีใครถ่ายทอดเรื่องราวในยุคหนึ่งได้ดีเท่ากับคนที่เกิดในยุคนั้น ยุคที่โทรศัพท์มือถือยังไม่มีหน้าจอสีและร่วงลงมาจากบันได 20 ขั้นก็ยังไม่ขิต ยุคที่สาว ๆ หลายคนอยากทำผ้าเช็ดหน้าหล่นวันละหลาย ๆ ผืน และเป็นช่วงเวลาวันคืนที่ชาวโลกต่างนับถอยหลังอย่างตื่นเต้นยิ่งกว่าปีไหน ๆ กับการเปลี่ยนแปลงที่ใครบางคนคาดว่ากำลังจะเกิดขึ้น ‘เธอกับฉันกับฉัน’ Coming of Age รักสามเส้า ที่ฟีลกู้ดอยู่ในทีและอบอุ่นตลอดเวลา
เรื่องราวของแฝดเหมือนวัยแรกแย้ม ยุค Y2K ที่แชร์ทุกอย่างในชีวิตด้วยกันมาตลอดตั้งแต่ลืมตาดูโลก จนถึงวันหนึ่งที่วัยสาวเริ่มผลิบานและค้นพบว่า “เรื่องบางเรื่องบนโลกใบนี้ไม่สามารถแชร์กันได้จริง ๆ” ผลงานเขียนบทและกำกับของวรรณแวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ผู้กำกับฝาแฝดที่ทำหนังฝาแฝด เธอกับฉันกับฉัน โดยไม่ใช้ฝาแฝดได้เหมือนฝาแฝดที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง
เธอกับฉันกับฉัน/You & Me & Me : เล่าเรื่องราวย้อนอดีตไปในปี 1999 ช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังพูดถึงปัญหา Y2K และข่าวลือว่าโลกอาจจะแตกในวันสิ้นปี ‘ยู กับ มี’ (ใบปอ-ธิติยา จิระพรศิลป์) ฝาแฝดวัยมัธยมต้นก็เป็นอีกชีวิตที่กำลังตื่นเต้นกับคำทำนาย และกำลังจะพบกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต ทั้งคู่รักกันมาก สนิทสนมและแชร์ทุกอย่างร่วมกันมาโดยตลอด จนเรียกได้ว่ายูและมีคือโลกทั้งใบของกันและกัน
จนวันหนึ่งเมื่อเด็กผู้ชายที่ชื่อ ‘หมาก’ (โทนี่-อันโทนี บุยเซอเรท์) ได้เข้ามาในชีวิต พวกเธอจึงได้สัมผัสกับ “รักครั้งแรก..ที่ไม่อาจแชร์ให้กันได้” ชนวนเล็ก ๆ ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และท้าทาย ทั้งคู่จะจัดการกับความสัมพันธ์นี้ และก้าวผ่านช่วงเวลาที่สับสนบนโลกที่เหมือนว่ากำลังจะแตกลงไปได้อย่างไร
เมื่อเรื่องวุ่นครั้งนี้ถูกเล่าจากผู้หญิง
ย้อนกลับไปในปี 2011 ‘SuckSeed ซักซี๊ด ห่วยขั้นเทพ’ ผลงานกำกับของ ‘ชัยนพ บุญประกอบ’ ได้สร้างนักแสดงหน้าใหม่อย่าง ‘พีช-พชร จิราธิวัฒน์’ ให้แจ้งเกิดขึ้นมาในวงการ จนมีผลงานอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายและกลายเป็นที่พูดถึงของใครหลายคนในช่วงนั้นว่า ‘คุ้ง กับ เค’ ตัวละครหลักในเรื่องเป็นฝาแฝดกันจริง ๆ หรือเปล่า และเธอกับฉันกับฉันก็กำลังสร้างนักแสดงหน้าใหม่ขึ้นมาประดับวงการอีกคน และหากไม่มีการโปรโมตเอาไว้ตั้งแต่ช่วงแรกเราอาจเข้าใจผิดว่าตัวเอกของเรื่องนี้ใช้ฝาแฝดมาแสดงจริง ๆ ก็เป็นได้
แน่นอนว่าบ้านเราไม่ได้มีหนังฝาแฝดเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก แต่เราสามารถพูดได้ว่านี่เป็นหนังฝาแฝดเรื่องแรกที่เขียนบทและกำกับโดยฝาแฝด และเป็นการเล่ามุมมองความรักความสัมพันธ์จากปากของผู้หญิงที่เกิดและเติบโตในยุคนั้น ทำให้มู้ดแอนด์โทนของหนังปกคลุมไปด้วยความนุ่มนวลและดำเนินไปอย่างช้า ๆ อุ่น ละมุน จูงผู้ชมให้ย้อนวัยวันหวานไปกับเขาและเธอและเธอ ที่เชื่อว่าวัยรุ่นวัยเดียวกันอาจเคยเจอและทำบางอย่างแบบในหนังกันมาแล้วมากกว่า 90 เปอร์เซ็น โดยเฉพาะผู้หญิง
แต่สิ่งที่หนังทำออกมาได้แตกต่างจากหนังรักวัยรุ่นเรื่องอื่น ๆ คือการเล่าในมุมมองของความเป็นแฝดที่แชร์ทุกอย่างมาด้วยกันทั้งชีวิต จนสุดท้ายต้องเติบโตและพบว่าไม่มีอะไรในโลกสามารถแชร์กันได้ทั้งหมดอย่างที่เคยคิดเอาไว้เมื่อตอนยังเด็ก และที่สำคัญไม่มีใครสามารถอยู่ด้วยกันตลอดไปได้อย่างที่ใจคิด เราจะเห็นมุมมองของเด็กผู้หญิงที่กำลังจะก้าวข้ามไปสู่ความเป็นสาว เป็นช่วงวัยที่กำลังโตขึ้น ต้องผ่านการตัดสินใจที่ดูเหมือนง่ายแต่ยากมาก ๆ สำหรับเด็กสาวในวัยนั้น ที่บางครั้งก็คิดว่าฉันโตแล้วที่จะทำเรื่องหวือหวาบางเรื่อง หรือบางครั้งก็อาจสับสนจนทนไม่ไหวที่ต้องตัดสินใจบางอย่าง ซึ่งบรรยากาศของหนังสามารถสร้างให้เราคล้อยตามได้แบบนั้น
ต้องบอกว่า วรรณแวว-แวววรรณ สองพี่น้องผู้กำกับมือดีสามารถจับประเด็นเอาไว้ได้อยู่หมัด และมือเหนียวจนประเด็นต่าง ๆ ไม่มีหลุดหล่นอยู่ข้างทาง เรียกได้ว่าเป็นการจูงมือตามกันไปอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับ ‘ใจ’ ของความเป็นแฝด ให้เราได้เห็นความรู้สึกที่แท้จริงของแฝดคู่หนึ่งในความรู้สึกที่มีต่อกันโดยที่คนภายนอกอาจคิดไปเอง ความต้องการมีตัวตนที่เป็นของตนเองโดยไม่ติดกับเงาแฝด การเติบโตที่ตามกันมาคล้ายกับตอนเกิด ด้วยการหยิบเอาเรื่องของรอบเดือนที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสาวมาใช้อย่างง่าย ๆ แต่กลับเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ขยายใจความได้ใหญ่มาก ๆ และความตื่นเต้นของกระแส Y2K ที่ทำให้เราย้อนอดีตไปนึกถึงการเคาต์ดาวน์ในวันนั้น
มากไปกว่านั้น หน้าหนังที่ดูเหมือนจะเป็นหนังรักวัยรุ่นแบบรักสามเส้าเราสามคน กลับกลายเป็นเพียงไอศกรีมยักษ์คู่รสส้ม ที่เอาไว้ดูดกินให้ชื่นใจยามกระหายเท่านั้นเอง เพราะเรื่องราวมากมายที่เป็นอาหารอื่น ๆ ในเรื่องนั้น กลับกลายเป็นเรื่องราวกลมกล่อมที่มากกว่ารัก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เข้าใจเลือกใช้ ‘กระแต-ศุภักษร ไชยมงคล’ มารับบทแม่ให้ได้หายคิดถึง และเป็นตัวแปรอีกตัวหนึ่งที่ทำให้สองสาวต้องตัดสินใจเรื่องที่มันยากเหลือเกินสำหรับลูกสาวฝาแฝด ความอบอุ่นในครอบครัวที่ใช้บทยายมาเบรกดราม่าด้วยอารมณ์ขันแบบผู้เฒ่าผู้แก่ชาวอีสาน และทำให้ผู้ชมหัวเราะพร้อมกันทั้งโรงออกมาได้ โดยที่ตัวบทไม่ต้องพยายามยัดเยียดอารมณ์ขัน ใด ๆ เลย
ฉากหลังงดงามกับแสงสวย ๆ ที่อยากปรบมือให้
จะบอกว่าเรื่องนี้เป็นหนังภาพสวยอีกเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ ด้วยการจัดแสงและการย้อมสีที่ดึงอดีตมาสู่หน้าจอได้แบบเนียนตา เราจะเห็นบรรยากาศความคลาสสิกของจังหวัดนครพนมในอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่ได้ขายโลเคชันอย่างโจ่งแจ้ง แต่เราจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศสมจริงที่อยู่ในเรื่องถึงแม้ว่าโลเคชันในอดีตบางสิ่งบางอย่างอาจจะยังไม่มีในเวลานั้น แต่บรรยากาศโดยรวมก็สามารถทำให้เราเชื่อได้ว่าเรากำลังยืนอยู่ที่นครพนมในปี 1999 จริง ๆ และถึงแม้ว่าในบางซีนจะลืมนำความเก่ามากลบความใหม่ที่ดันหลุดเข้าไปในยุคนั้นได้อย่างหน้าตาเฉย โดยเฉพาะอะไรเย็น ๆ หวาน ๆ ที่เราในยุคนั้นต่างล้อเลียนเมโลดี้ของเขาว่า อมแล้วดูด ลืมจริง ๆ ใช่ไหมล่ะ อ่ะให้อภัยก็ได้
เพราะด้วยความละมุนของหนังที่คลุมบรรยากาศโดยรวมทั้งหมดของงานภาพ ก็ทำให้มองเมินไปได้บ้าง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะบอกว่าหากงานพรอปไม่มีหลุดจนเห็นได้ชัดขนาดนี้ หนังเรื่องนี้ก็แทบจะไม่มีที่ติของงานภาพเลยทีเดียว เสียดายค่ะ แต่การจัดแสงที่สวยงามก็ได้ตรึงความรู้สึกและทำให้เราลืมฉากสะดุด ๆ ฉากนั้นไปได้ โดยเฉพาะแสงสวย ๆ ในฉากงานวัด ฉากหน้าร้านค้าของยายที่แสงแดดได้สาดส่องลงไปบนซี่ลูกกรงประตู ฉากค่ำคืนที่ต้องตัดสินใจบางเรื่องบนดาดฟ้า เป็นจังหวะที่สร้างอารมณ์และบรรยากาศให้หนังดูมีมิติของวันเวลาที่มากยิ่งขึ้นอีกเยอะเลยละค่ะ
การแสดงที่แจ้งเกิดของสาวน้อย
ดาวรุ่งดวงใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วแน่ ๆ และดาวรุ่งดวงนั้นชื่อ ใบปอ-ธิติยา ต้องบอกว่าสาวน้อยแสดงเป็นคู่แฝดที่ทำให้เราเชื่อได้อีกคู่หนึ่ง จนทำให้นึกเล่น ๆ ว่าถ้าหนังเรื่องนี้ใช้การการโปรโมตแบบไม่เฉลย จะเกิดอะไรขึ้น จะมีใครเข้าใจผิดบ้างไหมว่านี่คือแฝดจริงหรือแฝดเทียม น่าสนุกเหมือนกันนะคะถ้าจับตรงนี้มาเล่นแบบเอาเถิดเจ้าล่อ จุดนี้ต้องขอชมที่ตัวนักแสดงจริง ๆ ว่าเป็นมือใหม่ที่มีความพยายามและใส่ใจในคาแรกเตอร์จนเราสามารถเชื่อได้ว่านี่คือ ยู นี่คือ มี มากไปกว่านั้นยังโปรยเสน่ห์ความสดใจแจกจ่ายไปทั่วสารทิศ ทั้งรอยยิ้ม กิริยาท่าทางและความเป็นสาววัยนั้นที่พบรักกับเสื้อสายเดี่ยวและเพลงผ้าเช็ดหน้าของไทรอัมพ์ส คิงดอม
ถือเป็นหนังอีกเรื่องที่มีกระแสดีมากตั้งแต่อยู่ในโรง กับหนัง You & Me & Me เธอกับฉันกับฉัน (2023) หนังไทยฟีลกู๊ด ยุค Y2K สุดโรแมนติก ที่ตอนนี้ได้มีให้รับชมกันทาง Netflix แล้วด้วยนะ สำหรับใครที่พลาดชมหนังเรื่องนี้ในโรง ก็สามารถมาร่วมย้อนยุคเพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศในปี 1999 ไปพร้อมกันได้เลย
You & Me & Me เธอกับฉันกับฉัน
เรื่องย่อ หนัง You & Me & Me เธอกับฉันกับฉัน (2023)
ย้อนไปในช่วงปลายปี พ.ศ. 2542 หรือ ค.ศ. 1999 ที่กำลังจะผ่านเข้าสู่ปี ค.ศ. 2000 หรือที่เรียกว่ายุค Y2K “ยู” และ “มี” (รับบทโดย ธิติยา จิระพรศิลป์) ฝาแฝดที่หน้าตาเหมือนกันแทบทุกอย่าง ต่างกันที่ “มี” จะมีไฝที่แก้ม ส่วน “ยู” ไม่มีไฝ ทั้งคู่จึงมักแอบสลับตัวกันอยู่เสมอ โดยแต้มอายไลเนอร์เป็นไฝที่คนหนึ่งและป้ายคอนซีลเลอร์ปิดไฝที่อีกคนหนึ่ง แล้ววันนึงมีก็ได้ปลอมตัวไปสอบซ่อมวิชาคณิตศาสตร์แทนยูที่สอบตก ทำให้นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการได้พบกับ “หมาก” (รับบทโดย อันโทนี่ บุยเซอเรท์) เด็กหนุ่มต่างห้องที่สอบตกเหมือนกัน มีที่ปลอมตัวเป็นยูได้ลืมนำดินสอมา หมากจึงหักดินสอแบ่งให้ ทำให้ทั้งคู่เกิดความประทับใจกัน แต่แล้วก็มีเหตุให้หมากต้องย้ายบ้านไปอยู่ต่างจังหวัด มีและหมากจึงไม่ได้เจอกันอีก เมื่อปิดเทอมมาถึง ยูและมีต้องไปพักอยู่บ้านยายที่นครพนม ในตอนนั้นเองที่หมากได้พบกับทั้งคู่อีกครั้ง โดยเขาเข้าใจว่าเด็กผู้หญิงที่เจอในห้องสอบวันนั้นคือยู หมากจึงเดินหน้าจีบยู และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของพวกเขาไปตลอดกาล
บทบาทการแสดงไร้ที่ติ
อย่างแรกที่จะต้องชื่นชมคือการแสดงของทุกคนภายในเรื่องที่แสดงได้ค่อนข้างจะสมจริงมาก แทบจะไม่มีจุดที่รู้สึกว่านักแสดงเล่นแข็งหรือไม่เหมาะกับบทเลย ทั้งนักแสดงหลักอย่าง “ใบปอ – ธิติยา จิระพรศิลป์” ที่แสดงเป็นฝาแฝดยูมีได้ดีมากกก เล่นเอาหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าน้องมีฝาแฝดจริงๆ รวมถึงอีกหนึ่งคนที่ขาดไม่ได้ก็ต้องเป็น “น้ำแข็ง – ณัฐวสา ศรีนูเดช” ผู้แสดงเป็นแสตนด์อินของยูและมี อีกทั้งนักแสดงคนอื่นภายในเรื่องก็แสดงได้ดีมากจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อกับแม่ของยูและมี ยายของยูและมี หมาก ครูสอนพิณ หรือแม้กระทั่งเด็กๆ ที่มาเรียนพิณกับคุณครู ส่วนตัวชอบน้องเด็กน้อยสองคนที่เล่นพิณจีบยูกับมีมาก น้องแสดงได้น่ารักน่าหยิกสุดๆ
You & Me & Me เธอกับฉันกับฉัน
ความสัมพันธ์ที่แตกร้าวภายในครอบครัว
หนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ภายในหนัง คือความสัมพันธ์อันระหองระแหงของทั้งครอบครัวยูกับมี และครอบครัวของหมาก การที่พ่อกับแม่ของหมากเลิกกัน ทำให้หมากต้องลาออกจากโรงเรียนในกรุงเทพเพื่อย้ายไปนครพนม และด้วยสาเหตุเดียวกันนี้ที่ทำให้ยูกับมีต้องไปอยู่บ้านยายช่วงปิดเทอมที่นครพนมเช่นกัน ส่วนตัวชอบฉากที่หมากบอกว่าไม่รักก็แค่เลิกกัน ดีกว่าทนคบกันต่อไป เพราะในชีวิตจริงก็มีหลายครอบครัวที่พ่อและแม่คิดแทนลูกว่าอยากให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การเลิกกันอาจดีกว่าการมาทะเลาะกันให้ลูกเห็นก็ได้